วันอาทิตย์ที่ 18 เมษายน พ.ศ. 2564

ประชุมทำไม? เสียเวลา

 

ประชุมทำไม? เสียเวลาทำงาน



.

เคยรู้สึกอย่างนี้ไหมครับ เสียเวลามานั่งประชุม ไม่เห็นได้อะไร เอาเวลาไปทำงานยังจะดีกว่า  หรือแบบว่า มาประชุมกันเต็มห้อง ถามไปก็ไม่ตอบ สุดท้ายต้องเดินไปสั่งด้วยตัวเองอยู่ดี

.

ต้องยอมรับครับว่า ผลงานจริงมักเกิดจากการปฏิบัติที่หน้างาน และการตัดสินใจ ณ สถานการณ์จริงตรงหน้า แต่ก็อยากให้ลองคิดดูนะครับ ถ้าการประชุมไม่มีประโยชน์จริง  ทำไมองค์กรใหญ่ๆ ถึงยอมเสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายเอาคนเงินเดือนสูงๆมารวมกันเพื่อร่วมประชุม

.

เราจะใช้ประโยชน์อะไรจากการจัดประชุมได้บ้าง?

·         ได้งาน ใช้เป็นช่องทางในการวางแผนและติดตามงานอย่างเป็นระบบ :  การประชุมมักจะเป็นแนวทางแรกๆที่ใช้สำหรับการติดตามงานว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ มีอุปสรรคปัญหาอะไรที่ต้องมาช่วยกันแก้ไข





·         ได้รู้ ใช้เป็นที่สำหรับการสื่อสารภายใน : ผู้นำมักจะวางแผนการสื่อสารเรื่องที่สำคัญโดยใช้การจัดประชุม เพื่อให้มั่นใจว่าพนักงานได้รับทราบข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึง สามารถสอบถามข้อสงสัยได้อย่างตรงไปตรงมา หรือถ้ามีสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงอะไรที่สำคัญหรือมีการตัดสินใจที่สำคัญ ก็ใช้การประชุมเป็นเวทีในการสื่อสารสร้างความเข้าใจ



·         ได้ใจ ใช้เป็นแหล่งสร้างความสัมพันธ์และจุดเริ่มต้นของการสร้างความร่วมมือ  : การประชุมที่ออกแบบได้ดี จะช่วยให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีและความร่วมมือกันได้ เช่น วาระก่อนเริ่มประชุมให้แต่ละคนเล่าเรื่องส่วนตัวที่ผ่านมาไปทำอะไรบ้าง มีอะไรที่ทำสำเร็จและอยากเล่าให้ฟัง  ก่อนปิดประชุมเปิดโอกาสให้แต่ละคน ขอบคุณหรือแสดงความชื่นชมกับพฤติกรรมดีดีของใครในองค์กรที่ได้พบเห็นมา เป็นต้น



·         ได้แก้ไข ใช้สำหรับการแก้ปัญหาและระดมแนวความคิดใหม่ๆ  : หากองค์กรมีแนวทางการทำงานที่ต้องการให้พนักงานช่วยกันคิด ช่วยกันทำ และช่วยกันเสนอไอเดียใหม่ๆ นอกเหนือจากการรณรงค์ด้วยการสื่อสาร การจัดกิจกรรมต่างๆแล้ว การประชุมที่มีวัตถุประสงค์เรื่องนี้โดยเฉพาะก็จะช่วยให้ได้ผลลัพธ์ตามที่ต้องการได้



·         ได้พัฒนา เป็นเวทีสำหรับบ่มเพาะผู้นำ : การประชุมที่มีวาระที่ชัดเจน เปิดโอกาสให้มีส่วนร่วมอย่างทั่วถึง ก็จะเป็นโอกาสที่จะเห็นพนักงานที่มีศักยภาพสูงได้ฉายแววออกมา ซึ่งคุณอาจจะใช้การประชุมนี้เป็นเวทีให้เขา/เธอ ได้มีโอกาสในการแสดงมากขึ้น เช่น มอบหมายให้มานำเสนอในบางหัวข้อ ให้รับผิดชอบโครงการแล้วมานำเสนอในที่ประชุม หรือให้เป็นผู้ดำเนินการประชุมในบางวาระ เป็นต้น

.


เมื่อเห็นประโยชน์จากการจัดประชุมแล้ว ผมอยากชวนให้คุณลองหาทางทำให้การประชุมที่มีอยู่ของคุณ ทรงพลังขึ้นดูหน่อยไหมครับ เช่น

·         กำหนดวัตถุประสงค์ให้ชัดเจน เป็นจุดตั้งต้นที่จะทำให้การประชุมมีความหมาย คือเป็นไปตามจุดประสงค์ที่กำหนด ไม่ใช่คุยไปเรื่อยเปื่อย

·         กำหนดวาระให้ชัดเจน  เพื่อให้ผู้ร่วมประชุมเตรียมตัวพร้อมสำหรับการเข้าร่วม และจัดการประชุมไปทีละวาระอย่างชัดเจน

·         มีข้อตกลงร่วมกันสำหรับการประชุม เช่น พูดทีละคน โดยทุกคนต้องมีส่วนร่วม ไม่ใช่ให้ใครพูดอยู่คนเดียว  พูดในประเด็นที่อยู่ในวาระ ผู้นำเสนอต้องเตรียมสื่อที่ชัดเจน เข้าใจง่าย ถ้ามี Template ก็กำหนดไว้ล่วงหน้า พอนำเสนอขึ้นมาผู้เข้าร่วมประชุมก็สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นเร็วขึ้น

·         ถ้าเป็นการประชุมที่เป็นทางการควรมีการจดบันทึกการประชุม หรืออย่างน้อยก็ควรบันทึกประเด็นสำคัญ เพื่อใช้อ้างอิงในการประชุมครั้งต่อไป

.

ยังมีเคล็ดลับอีกเล็กน้อยที่อาจช่วยให้การประชุมมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น

·         การสังเกตพฤติกรรมของผู้ร่วมประชุม และใช้การพูดคุยส่วนตัวเสริม (เช่น บางคนไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในที่ประชุม แต่สามารถให้ไอเดียพรั่งพรูเมื่อไม่รู้สึกกดดัน หรือไม่กล้าพูดเพราะเกรงใจใครบางคนในที่ประชุม) 

·         การคุยโต๊ะเล็ก ถ้าเห็นว่า ในบางประเด็นเป็นเรื่องนอกวาระ หรือเกี่ยวข้องกับเฉพาะบางคน ก็อาจนัดประชุมย่อยเพื่อให้ไม่เกิดความน่าเบื่อหน่ายสำหรับคนที่ไม่เกี่ยวข้อง

.

การประชุมครั้งถัดไปของคุณเมื่อไหร่  และคุณอยากปรับปรุงในประเด็นไหนก่อนเลยครับ?


วันชัย ตันจารุพันธ์

วันจันทร์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2564

เรื่องด่วน..เดี๋ยวนี้ เรื่องสำคัญ..เดี๋ยวก่อน

 

เรื่องด่วน..เดี๋ยวนี้  เรื่องสำคัญ..เดี๋ยวก่อน

.


บางครั้งความจริงก็สวนทางกับความตั้งใจ  บางเรื่องในความตั้งใจของคุณบอกกับตัวเองว่า เป็นเรื่อง “สำคัญ” แต่พอเจอกับ “เรื่องด่วน” ก็ต้อง แกล้งลืม เรื่องสำคัญไปก่อน

ทำอย่างไร เรื่องสำคัญจะไม่ยอมหลีกทางให้กับเรื่องที่สำคัญน้อยกว่า?

.

ในการทำธุรกิจ จะมีอะไร สำคัญและเร่งด่วน ไปกว่า การส่งมอบสินค้าหรือบริการให้ตรงและทันความต้องการของลูกค้า  ซึ่งมักจะกลายเป็นงานประจำวันที่เราต้องก้มหน้าก้มตาทำวันแล้ววันเล่า บางทีพอเงยหน้าขึ้นมาก็ได้รู้เลยว่า เราพลาดโอกาสอะไรไปหลายอย่าง

.

เพราะยังมีเรื่อง สำคัญแต่ไม่เร่งด่วนที่คุณอาจละเลยได้ ถ้าคุณให้ความสำคัญกับเรื่องเร่งด่วนมากกว่าเรื่องสำคัญ คุณอาจเผลอ ไปเสียเวลากับเรื่องเร่งด่วนแต่ไม่สำคัญก็ได้

.

บางทีคุณอาจลองทบทวนดูว่า เรื่องอะไร ไม่สำคัญก็อาจ ลด ละ เลิกไปบ้าง แล้วหันมาทุ่มเทกับเรื่องสำคัญให้มากขึ้น ซึ่งอาจหมายถึงการทำให้ขยับ ขับเคลื่อนใกล้เป้าหมาย วิสัยทัศน์ กลยุทธ์ที่สำคัญขององค์กร

.

กรณีที่เรื่องเร่งด่วน หรืองานประจำบางอย่างยังมีความจำเป็นต้องทำ ลองหาแนวทางใหม่ๆดูครับ เช่น หาทางทำให้ง่ายและเร็วขึ้น มอบหมายให้คนอื่นทำแทน หรือว่าจ้างหน่วยงานภายนอกรับช่วงไปทำ ฯลฯ

.

ถ้าคุณไม่สามารถมอบหมายงานให้ใครทำแทนได้ เรื่องสำคัญของคุณอาจเป็นการสร้างผู้นำรุ่นใหม่ หรือพัฒนาความสามารถทีมงาน

.

ถ้าคุณใช้เวลาทำเรื่องเร่งด่วน นานเกินความจำเป็น เรื่องสำคัญของคุณอาจเป็นการพัฒนาทักษะความสามารถของคุณเอง

.

ถ้าคุณทำเรื่องเร่งด่วนไม่เสร็จสักที เรื่องสำคัญอาจเป็นเรื่องการสื่อสาร การสร้างความสัมพันธ์ ความร่วมมือภายในทีมงาน

.

ถ้าคุณมีแต่เรื่องด่วน เรื่องฉุกเฉินเต็มไปหมด ก็อาจถึงเวลาต้องคิดเรื่องสำคัญเกี่ยวกับการวางแผน การป้องกันปัญหากันบ้างแล้ว

.

สรุปว่า วันนี้ผมจะบอกเรื่อง ”สำคัญ” กับคุณว่า จงทำสิ่ง “สำคัญ” ให้ “สำคัญ”

.

วันชัย ตันจารุพันธ์

เรือเร็วชนะเรือใหญ่ แต่ถ้ายุคใหม่ต้องเป็น "ท่าเทียบเรือ"

 

เรือเร็วชนะเรือใหญ่ แล้วอะไรชนะเรือเร็ว?



.

.

ใช้เรือลำเล็กๆ  ก็ยังดีกว่า ว่ายน้ำข้ามไป

ใช้เรือลำใหญ่ ก็ไปได้ไกลกว่าเรือลำเล็ก

แต่ทุกวันนี้ เรือเร็ว ชนะเรือใหญ่

แต่ถ้าจะให้ทันสมัย วันนี้ต้องมี “ท่าเทียบเรือ”

.

ผมนั่งคุยกับลูกค้าในระหว่างช่วยกันวางแผนธุรกิจให้กับบริษัทของลูกค้ารายหนึ่ง เพื่อเปรียบเทียบเปรียบเปรยให้เห็นถึงแนวโน้มการทำธุรกิจในยุคปัจจุบัน ที่ความใหญ่โตอาจไม่ใช่ปัจจัยแห่งความสำเร็จเท่ากับความเร็วในการลงมือทำหรือความเร็วในการปรับตัวให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง

.

ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นเร็วมาก

ทั้งในเรื่องเทคโนโลยี

ทั้งให้เรื่องพฤติกรรมของผู้บริโภค

ในภาวะโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบแทบจะต้องคอยจับตาดูรายวันเลยทีเดียว

.

การมีทีมงานขนาดเล็กที่มีความคล่องตัว ทีทักษะและทัศคติที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงนับว่ามีความสำคัญ  โดยเฉพาะถ้าอ่านเกมส์ออก สามารถปรับตัวล่วงหน้า โดยไม่ต้องรอจนถูกบังคับให้เปลี่ยน  อาจพลิกสถานการณ์ให้กลายเป็นความได้เปรียบในการแข่งขันได้ อย่างเช่น ผู้ประกอบการหลายรายเตรียมพร้อมการขายช่องทางออนไลน์ก่อนที่จะเกิดโควิด ก็จะมีความพร้อมมากกว่า

.

เมื่อเราคุยกันได้สักพักใหญ่ ก็มีคำถามเกิดขึ้นกลางวงว่า “ถ้าเรือเร็วชนะเรือใหญ่ แล้วอะไรชนะเรือเร็ว?  ตามความเห็นของผม ถ้าจะให้ทันยุคสมัย ยุคนี้ คุณต้องมีท่าเทียบเรือ”  ซึ่งผมหมายถึง ธุรกิจที่เป็นแพลตฟอร์ม ที่เปิดโอกาสให้ผู้คนจำนวนมากเข้ามาใช้ประโยชน์ ทั้งผู้ซื้อสินค้า ผู้ขายสินค้า ผู้ขนส่ง ผู้ที่ต้องการโฆษณาประชาสัมพันธ์  ซึ่งผู้ที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มก็สามารถสร้างรูปแบบรายได้ได้อย่างหลากหลายและมีแนวโน้มที่จะเป็นธุรกิจที่เติบโตเร็วกว่ารูปแบบอื่นๆ

.

ตัวอย่าง เช่น LINE MAN Wongnai  แพลตฟอร์มสัญชาติไทยที่เป็น e-commerce platform for service พยายามที่จะทำให้ชีวิตคนไทยดีขึ้น เป็น marketplace ที่ทีผู้เกี่ยวข้องหลัก 3 ด้านคือคนขับรถ ร้านอาหาร คนสั่งอาหาร มาร่วมกันสร้างและใช้ประโยชน์จากแพลตฟอร์ม  ซึ่งก็มีจำนวนมากและเติบโตทั้ง 3 ด้าน ถ้าเจ้าของแพลตฟอร์มสามารถสร้างการเติบโตให้แพลตฟอร์มได้ ก็ถือว่าสามารถช่วยเหลือผู้คนได้เป็นจำนวนมาก ในขณะที่เจ้าของแพลตฟอร์มก็อาจได้ประโยชน์ร่วมกันจากรายได้รูปแบบอื่นได้อีก เช่นสื่อโฆษณา ใช้ประโยชน์จากข้อมูลบนแพลตฟอร์มเพื่อนำเสนอสินค้าใหม่ เช่น เงินกู้ระยะสั้น ประกันสำหรับคนขับรถ เป็นต้น

.

วัยชัย ตันจารุพันธ์

เรื่องคนน่ะสำคัญ.... แต่เดี๋ยวให้ HR ไปจัดการ

 

เรื่องคนน่ะสำคัญ.... แต่เดี๋ยวให้ HR ไปจัดการ



.

ผู้นำที่ตระหนักถึงความสำคัญของคนจริงๆ จะคิดเรื่องคน ให้เป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนกลยุทธ์ด้วย  ในการจัดทำแผนจึงมักจะมีองค์ประกอบทั้ง แผนงาน แผนเงินและแผนคนอย่างครบถ้วน

.

ในแผนงานด้านคนนั้น อาจมองเป็นหนึ่งในทรัพยากรที่จำเป็นสำหรับทำให้แผนประสบความสำเร็จได้เช่นเดียวกับเรื่องเงินที่เป็นทรัพยากรที่เป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน  จึงอาจคำนึงถึงความพร้อมของอัตรากำลังและขีดความสามารถของพนักงานที่สอดคล้องกับหน้าที่ความรับผิดชอบเป็นพื้นฐาน
.

แต่แผนงานด้านคนก็ยังอาจมีประเด็นที่นำมาเป็นแผนงานเพื่อสนับสนุนความสำเร็จขององค์กรได้อีก ตัวอย่างเช่น แผนงานในการสร้างพฤติกรรมการทำงานร่วมกัน  แผนงานในการสร้างความตระหนักต่อประเด็นที่องค์กรกำลังให้ความสำคัญ เช่น เรื่องความปลอดภัย เรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสังคมชุมชน เรื่องการนำดิจิทัลมาปรับใช้ เป็นต้น หรือแผนงานสร้างบรรยากาศการทำงานที่ดีและความสุขให้กับพนักงาน รวมทั้งแผนการสร้างผู้นำในอนาคต

.

เรื่องเหล่านี้ เชื่อว่าหน่วยงาน HR ก็คงเห็นว่ามีความสำคัญ แต่การจะขับเคลื่อนให้เกิดผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรม สอดคล้องตรงกับทิศทางขององค์กร มีการติดตามความคืบหน้าได้อย่างใกล้ชิดจริงๆ น่าจะเป็นบทบาทของผู้นำองค์กรและผู้นำแต่ละหน่วยงานมากกว่า

#เรื่องคนสำคัญ #ผู้นำต้องทำเอง

วันชัย ตันจารุพันธ์

กระบวนการผลิต ไม่รู้จะปรับปรุงอะไร?

 


จะหาโอกาส #ปรับปรุงกระบวนการผลิต อะไรได้บ้าง?

 

สำหรับผู้ประกอบการ หรือผู้บริหารที่ไม่มีพื้นฐานด้านการผลิต แต่จำเป็นต้องวางแผนควบคุม ดูแลและปรับปรุงด้านการผลิตให้สามารถรองรับด้านการขายและการเติบโตของธุรกิจได้ นี่คือแนวทางเร่งรัดสำหรับ #การวางแผนด้านปรับปรุงกระบวนการผลิต ที่นำไปใช้ได้เลย

.

เริ่มจากกำหนดวัตถุประสงค์ โดยส่วนใหญ่มักจะเกี่ยวกับการทำให้กระบวนการผลิต ดีขึ้น เร็วขึ้น ถูกลง

จากนั้นก็ทำการระบุและคัดเลือก “ปัจจัย” ที่ส่งผลกระทบต่อวัตถุประสงค์ดังกล่าว

.

สิ่งที่ผมขอแนะนำก่อนอื่นคือ   3 ประเด็นแรกที่เป็น “ปัจจัย” สำคัญ ซึ่งมักจะส่งผลกระทบต่อทั้ง 3 เรื่องข้างต้นโดยตรง(ดีขึ้น เร็วขึ้น ถูกลง) ได้แก่

·         Defect  - ผลิตของเสีย กระทบต่อคุณภาพแน่นอนคือ“แย่ลง”  ต้องนำของเสียมาแก้ไขทำให้ “ช้าลง” ส่งผลให้ต้นทุน “สูงขึ้น”

·         Breakdown -เครื่องจักรชำรุด ทำให้ “ช้าลง” อาจผลิตของเสียออกมาทำให้ “แย่ลง” และเกิดต้นทุนที่ “สูงขึ้น”จากค่าซ่อม การเสียเวลาและของเสีย

·         Accident -อุบัติเหตุ ทำให้ “ช้าลง” ต้นทุน “แพงขึ้น” และสายการผลิตที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยๆจะผลิตสินค้าที่มีคุณภาพออกมาได้อย่างไร?

.

ส่วนรายการ “ปัจจัย” อื่นที่ส่งผลกระทบต่อ “ต้นทุน” (ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้สินค้าขายได้ในราคาถูกลง) เช่น

·         Give away  -ใช้วัตถุดิบมากเกินกว่ามาตรฐานที่กำหนด เนื่องจากความแปรปรวนในกระบวนการจึงมีการเผื่อที่เกินความจำเป็น

·         Efficiency -ประสิทธิภาพต่ำกว่ามาตรฐาน อาจเกิดจากทักษะของคน หรือ การเสื่อมสภาพของเครื่องจักร

·         Energy -การสิ้นเปลืองพลังงาน ขาดระบบการควบคุมการใช้พลังงานที่ดี

·         Inventory -การจัดการพัสดุคงคลังที่ไม่ดี (มากเกินความจำเป็น ชำรุด สูญหาย เสื่อมสภาพ)

·         Non-Effective Process -กระบวนการที่ออกแบบไม่ดี เช่น ปรับตั้งเครื่องจักรนาน , เปลี่ยนรุ่นการผลิตนาน , ขนย้ายบ่อย ย้ายผิดวิธี , ต้องค้นหา , ต้องตีความ , รอตัดสินใจ ,ตรวจสอบมากเกินจำเป็น เป็นต้น

·         Waste Disposal -จัดการของเสียเกินความจำเป็น เกิดจากไม่ควบคุมของเสียที่แหล่งกำเนิด ไม่หาทางนำกลับมาใช้ใหม่

.

ลองพิจารณาดูนะครับ ว่าประเด็นไหนที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจของคุณมากที่สุด หาข้อมูลผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นในอดีตมายืนยันได้ยิ่งดี ซึ่งเมื่อได้ปัจจัยที่ตัดสินใจเลือกให้ความสำคัญแล้ว จึงนำรายการนั้นมาวิเคราะห์ เพื่อกำหนด “แผนงาน” ที่จะปรับปรุงให้เกิดผลลัพธ์ ซึ่งในที่สุดก็คือ “ดีขึ้น เร็วขึ้น ถูกลง“ 

.

เคล็ดลับที่อาจใช้เป็นแนวทางในการกำหนด “แผนงาน” ก็อาจใช้ปัจจัยที่คัดเลือกมาวิเคราะห์ด้วยแผนภูมิก้างปลา โดยนำประเด็นที่เลือกเป็นตัวตั้ง เช่น “เกิด Defect มาก”  แล้วจึงวิเคราะห์หาสาเหตุที่เป็นไปได้ โดยใช้มุมมองที่เป็นปัจจัยการผลิต 4M เป็นกรอบในการวิเคราะห์ (ได้แก่ Man , Machine , Material , Method ) โดยอาจมองรวมถึงโอกาสในการนำ Technology / Automation และ IT  เข้ามาใช้ด้วย

.

หวังว่า คงพอจะได้ไอเดียที่เปลี่ยนจาก “ไม่รู้จะปรับปรุงอะไร?” คงมีอะไรที่ “ได้ปรับปรุงบ้าง” นะครับ

 

วันชัย ตันจารุพันธ์

วันเสาร์ที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2564

ประกาศวิสัยทัศน์ กำไรโต 3 เท่าใน 2 ปี มันไม่ดีตรงไหน?

 




ในการทำ workshop วางแผนธุรกิจครั้งหนึ่ง มีผู้บริหารถามผมว่า ถ้าผมจะประกาศวิสัยทัศน์ว่า กำไรโต 3 เท่าใน 2 ปี มันไม่ดีตรงไหน? เห็นว่าเป็นคำถามที่น่าคิด ก็เลยเอามาชวนคิดชวนคุยต่อ

.

ดูเฉพาะเนื้อหา ถ้าผมเป็นเจ้าของธุรกิจนั้นก็ถือว่าน่าตื่นเต้นมาก ถ้าเป็นผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุน ก็อาจจะต้องการลงทุนด้วย แต่อาจจะเป็นนักลงทุนระยะสั้น เพราะถ้าเป็นนักลงทุนที่มองระยะยาวๆอาจต้องคิดเยอะกว่า

.

แต่ถ้าเป็นคนทั่วๆไป อาจมีข้อสงสัยหลายอย่าง กำไรได้อย่างไร? เอารัดเอาเปรียบใครมาหรือเปล่า? กำไรโตไปเพื่ออะไร? มีคุณค่าอะไรเกิดขึ้นหรือเปล่า? แล้วมันเกี่ยวอะไรกับฉัน?

.

วิสัยทัศน์ผู้บริหารที่มุ่งสร้างผลกำไรสูงสุดไม่ผิด ใครๆก็ต้องพยายามในเชิงธุรกิจ แต่ถ้าจะสื่อสารสู่สังคม อาจต้องคิดเยอะขึ้นอีกนิด  ลองปรับวิสัยทัศน์ว่า “เราจะเป็นผู้นำในหมวดหมู่ธุรกิจอะไร ด้วยคุณค่าอะไรที่จะส่งมอบให้ใคร “ น่าจะเป็นวิสัยทัศน์ที่ดูสมเหตุสมผลที่จะช่วยให้เติบโตได้ต่อเนื่องมากกว่า เช่น เป็นผู้นำในธุรกิจส่งออก ด้วยการช่วยให้ร้านค้า OTOP ส่งสินค้าไปขายได้ทั่วโลก เป็นต้น

.

หลายองค์กร มักกำหนดวิสัยทัศน์ที่จะ ช่วยเหลือผู้คนในการแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง ซึ่งนั่นก็คือการ ส่งมอบคุณค่าที่มีความหมายให้กับผู้คน ซึ่งถ้าทำได้เช่นนั้นจริง ก็จะได้ทั้ง กำไรและการเติบโตที่ยั่งยืนกว่า อาจะทำให้ผู้คนที่ได้รับประโยชน์จากคุณค่าที่องค์กรช่วยแก้ปัญหาให้เขากลายมาเป็นผู้สนับสนุนองค์กร อาจช่วยดึงดูดคนดีคนเก่งที่เห็นความสำคัญของคุณค่าเดียวกัน มาร่วมงานกับองค์กรเพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกัน เช่น เราจะช่วยเกษตรให้ประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกด้วยเทคโนโลยีที่เหมาะสม ก็อาจดึงดูดคนที่ให้ความสำคัญกับเกษตรกร ต้องการช่วยเหลือเกษตรกรเข้ามาร่วมด้วยช่วยกัน

.

เคล็ดลับที่เหนือชั้นไปอีกขั้น ถ้า ”คุณค่า” ที่องค์กรส่งมอบนั้น รวมไปถึง “คุณค่าทางใจ” ด้วย ก็อาจทำให้วิสัยน์ทัศน์ที่จะประกาศสู่สาธารณชนมีความน่าสนใจมากขึ้น อาจเป็นจุดตั้งต้นที่ดีที่จะสร้าง “ความผูกพัน” กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียได้ดียิ่งขึ้น

.

เพื่อให้เห็นภาพชัดเจน จะขออนุญาตยกตัวอย่าง วิสัยทัศน์ของบริษัท ซีพีออล “เราให้บริการความสะดวกกับทุกชุมชน - เราปรารถนารอยยิ้มจากลูกค้าด้วยทีมงานที่มีความสุข” ซึ่งจะเห็นว่า คุณค่าคือ “ความสะดวก” กลุ่มเป้าหมายคือ “ทุกชุมชน” โดยมีคุณค่าทางใจที่ลึกซึ้ง คือ  “รอยยิ้มจากลูกค้าด้วยทีมงานที่มีความสุข”

.

ผมว่า วิสัยทัศน์แบบที่ได้กล่าวมา น่าจะดีกว่า “กำไรโต 3 เท่าใน 2 ปี” คุณคิดว่าไง?